Isnin, 2 Februari 2009

มัสยิดตะโละมาเนาะ สถาปัตกรรมอันเลื่องชื่อแห่งโลกมลายู


มัสยิดตะโละมาเนาะ หรือ มัสยิดวาดีลอัลฮูเซ็น ตั้งอยู่ปริเวณเชิงเขาบูโด ต.ลูโบะสาวอ อ.บาเจาะ จ.นราธิวาส ห่างจากตัวเมืองนราธิวาส 25 กิโลเมตร สร้างในปี พ.ศ. 2167 มีอายุ 382 ปี รุ่นราวคราวเดียวกับมัสยิดกรือเซะ เป็นมัสยิดเรือนไม้ที่เก่าแก่ที่สุดในประเทศไทยและในแหลมมลายูก็ว่าได้ มัสยิดแห่งนี้ได้รับการดูแลและยกย่องให้เป็นมรดกชาติ จากกรมศิลปากรแล้ว ปัจจุบันยังคงใช้เป็นสถานที่ประกอบศาสนกิจของชาวมุสลิมอยู่ในหมู่บ้านและประชาชนละแวกใกล้เคียง
จากคำบอกเล่าของผู้สูงอายุในหมู่บ้านเกี่ยวกับประวัติการสร้างมัสยิดแห่งนี้สรุปได้ว่า เนื่องจากเกิดสงครามระหว่างเมืองปาตานีกับกรุงศรีอยุธยา ท่านวันฮูเซ็น อัสซานาวี ซึ่งเป็นอาจารย์สอนศาสนาที่มีลุกศิษย์มากมายรวมทั้งเจ้าเมืองปาตานี ด้วยความรักและความห่วงอาจารย์ของเจ้าเมืองปาตานี จึงได้สั่งให้ท่านวันฮูเซ็นอพยพชาวบ้านและลูกศิษย์บางส่วนมาจากบ้านสะนอยานยา (ปัจจุบันอยู่ใน อ.ยะรัง จ.ปัตตานี) มาอยู่ในที่ปลอดภัย โดยตะโละมาเนาะถือเป็นทำเลที่เหมาะสำหรับการตั้งหลักแหล่ง เพราะเป็นพื้นที่ที่อุดมสมบูรณ์ด้วยสัตว์ป่านานชนิด สามารถปลูกพืชผักได้อย่างงอกงาม จากนั้นท่านจึงสร้างมัสยิดแห่งนี้ขึ้นมา
คำว่า "ตะโละ" เป็นคำภาษามลายู แปลว่าอ่าว หรือแผ่นดินซึ่งเว้าเข้าไปในเชิงเขา ส่วนคำว่า "มาเนาะ" ชาวบ้านบางคนบอกว่าเป็นชื่อต้นไม้ โดยในพจนานุกรม ระบุว่า "มานุก" แปลว่านกหรือไก่ ดังนั้น ตะโละมาเนาะ ก็คือถิ่นของนกหรือถิ่นของไก่ เนื่องจากหมู่บ้านแห่งนี้อยู่ติดริมลำธาร ซึ่งในอดีตเป็นที่อาศัยหรือแหล่งหากินของนกและไก่ป่า รวมทั้งสัตว์ป่าอื่นๆอีหลายชนิด มัสยิดนี้แตกต่างจากมัสยิดอื่นตรงที่สร้างด้วยไม้ตะเคียนทั้งหลัง อาคารจะใช้สลักไม้ยึดแทนตะปูหรือสกรูเหล็ก เป็นการสร้างแบบศิลปไทยพื้นเมืองประยุกต์ ผสมผสานกับศิลปแบบจีนและมลายู ตัวมัสยิดสร้างเป็นอาคาร 2 หลังติดกัน มีขนาด 14.20x6.30 เมตร ส่วนที่เด่นที่สุดเห็นจะเป็นหลังคา หลังแรกจะมีหลังคา 3 ชั้น มุงด้วยกระเบื้องดินเผา หลังคาชั้น 3 มีโดมเป็นเก๋งจีน ส่วนที่ 2 จะมีหลังคา 2 ชั้นหลังคาชั้นที่ 2 เป็นจั่วรูปฐานรองรับอยู่บนหลังคาชั้นแรก รอบฐานจะแกะสลักเป็นเถาก้าน เจาะเป็นลวดลายต่าง ๆ อย่างสวยงาม ด้านในจะมีบันไดซึ่งสมัยก่อนใช้ขึ้นไปบนหออะซานหลังคาชั้นที่ 2 เพื่อตะโกนเรียกละหมาด
มัสยิดแห่งนี้ยังได้รับความสนใจจากสถาบันการศึกษาชั้นสูงในประเทศมาเลเซีย โดยมีเอกสารและหนังสือหลายเล่มที่อ้างถึงมัสยิดหลังนี้ เช่น "วาดีลอัลฮูเซน ปาตานี มัสยิดเรือนไม้อันสุดงาม" (WADI AL-HUSEIN PATANI : Masjid Kayu Terindah) โดยสำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยแห่งชาติมาเลเซีย และงานวิจัยเรื่อง "มัสยิดตะโละมาเนาะ นราธิวาส ประเทศไทย" โดยคณะนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีมาเลเซีย นอกจากนี้ ยังเป็นจุดดึงดูดนักท่องเที่ยวทั้งไทยและต่างประเทศโดยเฉพาะชาวมาเลเซีย
เมื่อประมาณ 30 กว่าปีมาแล้ว อาคารของมัสยิดหลังเก่าถูกต่อเติม ขยายเนื้อที่ในการใช้สอยให้กว้างขึ้น เพื่อรองรับความต้องการของผู้คนที่หลั่งไหลกันมาประกอบศาสนกิจที่มัสยิดแห่งนี้ การก่อสร้างยังอิงความรู้สึกของผู้คนอยู่ กรมศิลปากรจึงเนรมิตอาคารหลังใหม่ที่เชื่อมต่อจากอาคารหลังเก่า ด้วยความพิถีพิถันประณีตและดูกลมกลืนมากที่สุด