Jumaat, 10 Jun 2011

15 เทคนิค พัฒนาความคิดสร้างสรรค์

ใครๆก็อยากมีความคิดสร้างสรรค์กันทั้งนั้น เพราะความคิดสร้าง สรรค์ คือ ความสามารถที่จะประมวล ข้อมูลผ่านทักษะการคิด เพื่อนำมาแก้ไขปัญหาได้อย่างมีประสิทธิผลในแนวทางใหม่ๆ อย่างหลากหลายไม่มีที่สิ้นสุด มันไม่ใช่ทักษะที่มีจำกัดเฉพาะเหล่าศิลปิน นักดนตรี หรือนักเขียน แต่เป็นทักษะที่เป็นประโยชน์ต่อผู้คนทุกสาขาอาชีพ
และคุณก็สามารถพัฒนาทักษะนี้ให้ตนเองได้เช่นกัน ลองนำ 15 เทคนิคต่อไปนี้ไปปฏิบัติ แล้วคุณจะกลายเป็น บุคคลใหม่ที่เต็มเปี่ยมไปด้วยพลังความคิดสร้างสรรค์

1. ตั้งเป้าหมาย
ขั้นตอนแรกคือ มีความตั้งใจที่จะพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ ไม่ผัดวันประกันพรุ่ง มีเป้าหมายที่แน่วแน่ พร้อมขอความช่วยเหลือจากผู้อื่น และแบ่งเวลาในแต่ละวันเพื่อพัฒนาทักษะและทุ่มเทให้กับงานสร้างสรรค์ที่คุณ สนใจ เพราะคุณไม่สามารถพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ให้เกิดขึ้นได้ ถ้าไม่มีเวลาให้กับมัน

2. ให้รางวัลความอยากรู้อยากเห็น
อุปสรรคอย่างหนึ่งที่พบได้บ่อยในการพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ คือ การเข้าใจว่า ความอยากรู้อยากเห็นเป็นเรื่องการทำตามใจตัวเอง แต่แทนที่จะตำหนิตัวเองเมื่อคุณอยากรู้อยากเห็นในบางเรื่อง คุณควรให้รางวัลตัวเองมากกว่า ลองให้โอกาสตัวคุณเองในการแสวงหาความคิดเห็นใหม่ๆ

3. เต็มใจรับความเสี่ยง
ในการเสริมสร้างทักษะความคิดสร้างสรรค์ คุณต้องยอมรับความเสี่ยงให้ได้ เพื่อพัฒนาความสามารถให้ก้าวหน้า แม้ว่าไม่อาจทำสำเร็จได้ทุกครั้ง แต่อย่างน้อย ก็ช่วยพัฒนาและเสริมสร้างทักษะที่จะนำไปใช้ได้ในอนาคต

4. สร้างความมั่นใจให้ตัวเอง
ความไม่เชื่อมั่นในความสามารถของตัวเอง อาจทำลายความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ได้ นั่นคือเหตุผลที่ว่า ทำไมการสร้างความมั่นใจให้ตนเองจึงเป็นเรื่องสำคัญ จงชื่นชมความเพียรพยายาม และอย่าลืมให้รางวัลตนเองเมื่อทำสำเร็จ เพราะการให้รางวัลตัวเองเป็นเรื่องสำคัญ มันเป็นการพัฒนาแรงจูงใจภายในตัวเอง

5. ขจัดทัศนคติด้านลบ
มีการวิจัยที่ระบุว่า ความรู้สึกนึกคิดด้านบวกสามารถ เพิ่มพลังความคิดสร้างสรรค์ได้ ถ้าคุณกำลังทำงานที่ต้องอาศัยความคิดริเริ่มหรือระดมความคิดละก็ ต้องสร้างบรรยากาศโดยรอบให้รื่นรมย์ เน้นการขจัดความคิดด้านลบหรือการตำหนิตัวเอง ซึ่งอาจทำให้ความสามารถที่จะพัฒนาทักษะความคิดสร้างสรรค์ให้แข็งแกร่งนั้น ลดน้อยถอยลง

6. สู้กับความกลัวการล้มเหลว
ความกลัวว่าจะทำผิดหรือล้มเหลว อาจทำให้การพัฒนาทักษะหยุดชะงักได้ เมื่อใดก็ตามที่คุณตกอยู่ในห้วงความรู้สึกเช่นนี้ ให้เตือนตัวเองว่า ความผิดพลาดทั้งหลายเป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นได้ในทางปฏิบัติ แม้ว่าจะเจออุปสรรคเป็นครั้งคราว แต่ในที่สุด.. คุณก็จะไปถึงจุดหมายที่วางไว้

7. หาวิธีแก้ปัญหาที่หลากหลาย
ครั้งต่อไปเมื่อต้องเผชิญกับปัญหา ต้องมองปัญหาอย่างทะลุปรุโปร่ง และลองมองหาวิธีแก้ไขที่หลากหลาย แทนที่จะทำตามความคิดแรกที่ผุดขึ้นในสมอง จงใช้เวลาคิดถึงหนทางอื่นๆที่อาจแก้ปัญหาได้ การทำเช่นนี้จะช่วยสร้างทักษะการแก้ไขปัญหาและความคิดสร้างสรรค์

8. ระดมสมอง
การระดมสมอง เป็นเทคนิคทั่วไปที่ใช้ในแวดวงวิชาการและอาชีพ และยังเป็นเครื่องมือที่ทรงพลังในการพัฒนาความคิดสร้างสรรค์อีกด้วย จงเริ่มด้วยการหยุดตัดสินและวิพากษ์วิจารณ์ตนเอง จดบันทึกข้อคิดและวิธีแก้ปัญหาต่างๆ โดยมีเป้าหมายที่จะระดมความคิดให้มาก ที่สุดเท่าที่จะทำได้ในช่วงเวลาสั้นๆ แล้วกลั่นกรองเพื่อให้ได้แนวคิดที่ดีที่สุด

9. จดบันทึก
จดบันทึกเพื่อดูความคืบหน้าของสิ่งที่ทำและติดตามผล การจดบันทึกเป็นหนทางที่ดีที่ช่วยสะท้อนสิ่งที่คุณทำได้สำเร็จ และยังเป็นการมองหาลู่ทางที่เป็นไปได้เพื่อใช้แก้ปัญหา นอกจากนี้ สมุดบันทึกยังเป็นแหล่งเก็บรวบ รวมแนวคิดต่างๆ ที่อาจเป็นแรงจูงใจได้ในอนาคต

10. สะสมความคิด
เคยสังเกตมั้ยว่า ไอเดียดีๆอย่างหนึ่งมักนำไปสู่ไอเดีย อีกอย่างหนึ่งได้ ดังนั้น การค่อยๆสะสมความคิดทีละเล็ก ทีละน้อย มาใช้ในงานที่กำลังทำอยู่ จึงเป็นสิ่งที่ควรทำ แต่ถ้าแนวคิดที่เลือกมาใช้ ยังไม่เหมาะสมสำหรับงานปัจจุบัน ก็สามารถนำไปใช้กับงานอย่างอื่นได้ในอนาคต

11. สร้างแผนที่ความคิด
แผนที่ความคิดเป็นวิธีที่ดีที่ช่วยปะติดปะต่อแนวความ คิดต่างๆเข้าด้วยกัน เพื่อหาคำตอบให้กับคำถาม วิธีการก็คือเริ่มด้วยการเขียนหัวข้อเรื่องลงบนกระดาษ แล้วเชื่อมโยงข้อความหรือไอเดียที่เกี่ยวข้องกับหัวข้อเรื่อง คล้ายกับการระดมมันสมอง แต่วิธีนี้จะช่วยแตกแนวคิดเป็นข้อๆ เพื่อให้เห็นภาพการเชื่อมโยงกันชัดเจนขึ้น

12. ท้าทายตนเอง
เมื่อคุณได้พัฒนาทักษะเบื้องต้นในการสร้างความคิดสร้างสรรค์แล้ว จำเป็นต้องกระตุ้นตัวเองไปเรื่อยๆ เพื่อให้เกิดผลดียิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการทำงานในโครงการใหม่ หรือค้นหาวิธีใหม่ๆเพื่อใช้ในงานที่กำลังทำอยู่ มองหาแนว ทางที่ยากมากขึ้น และหลีกเลี่ยงการใช้วิธีแก้ปัญหาเดิมๆที่เคยใช้ในอดีต

13. มองหาแหล่งสร้างแรงบันดาลใจ
อย่านึกว่าความคิดสร้างสรรค์เกิดขึ้นเองได้ง่ายๆเสมอไป แต่คุณจำเป็นต้องแสวงหาแหล่งที่จะกระตุ้นให้เกิดความคิดใหม่ๆ อันจะจูงใจให้ค้นหาคำตอบให้กับคำถาม อาจเริ่มจากการอ่านหนังสือ ไปเที่ยว ฟังเพลงโปรด หรือ คุยถกเถียงกับเพื่อนฝูง แล้วนำกลยุทธ์หรือเทคนิคที่ดีที่สุดมาใช้

14. เตรียมแผนสำรอง
เมื่อต้องเผชิญกับปัญหา ให้ตั้งคำถามประเภท “แล้วถ้า....” เพื่อเป็นทางเลือกในการแก้ไขปัญหา หรือถ้าเลือกวิธีใดวิธีหนึ่งแก้ปัญหา ผลจะออกมาอย่างไร? จะเห็นว่า การมองหาทางเลือกอื่นๆไว้ล่วงหน้า จะช่วยพัฒนาทักษะการแก้ไขปัญหาของคุณได้อย่างสร้างสรรค์

15. สร้างแผนผังการดำเนินงาน
เมื่อคุณต้องทำงานชิ้นใหม่ จงเริ่มด้วยการวางแผนผังการดำเนินงานตั้งแต่เริ่มต้นจนจบ ระบุอุปสรรคต่างๆที่อาจเกิดขึ้นได้ แผนผังนี้จะช่วยให้คุณมองเห็นผลลัพธ์ในตอนท้ายสุด ซึ่งจะช่วยลดปัญหาที่อาจเกิดขึ้นได้ และเป็น วิธีแก้ปัญหาที่มีเอกลักษณ์

(จากหนังสือธรรมลีลา ฉบับที่ 124 มีนาคม 2554 โดย ประกายรุ้ง)